Social Event

เธอยังโอเคอยู่ไหม

Are you OK

วลีที่ว่า “เป็นวัยรุ่นมันเจ็บปวด” อาจเป็นคำเก๋ๆ ที่ใช้กันในหมู่วัยรุ่นในอดีต ซึ่งในปัจจุบันวลีนี้อาจไม่ใช่แค่คำเปรียบเปรยธรรมดา แต่กลายเป็นปัญหาสังคมที่มีผลสำรวจอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ข้อมูลจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ชี้ว่าปัญหาหลักๆ ที่เด็กและเยาวชนโทรศัพท์มาขอคำปรึกษา ได้แก่เรื่อง ความเครียดและ วิตกกังวล ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และปัญหาครอบครัว 

ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียได้เข้ามามีบทบาท มีอิทธิพลต่อทั้งความ สัมพันธ์ และวิธีการใช้ชีวิตของวัยรุ่นเป็นอย่างยิ่ง คนรุ่นใหม่หลายคนรู้สึกเจ็บปวดกับความจริงบนโลกโซเชียลมากขึ้น โดยข้อมูลที่น่าวิตกคือมีการพูดถึง  “ปัญหาซึมเศร้า” ในทวิตเตอร์มากกว่า 1.4 แสนข้อความและมากขึ้นทุกๆ ปี  โดยสาเหตุของการเป็นซึมเศร้าในวัยรุ่น 66% เกิดจากเรื่องความสัมพันธ์ ซึ่งหากลงลึกข้อมูลจะพบว่าสาเหตุของการเป็นโรคซึมเศร้าเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์จะสามารถแยกออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ ปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อน และ คนรัก ซึ่งก็คือบุคคลใกล้ชิดกับผู้ป่วยนั้นเอง

นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มที่เด็กและเยาวชนเข้ารับบริการปรึกษาเพิ่มขึ้นผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เฉพาะครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2562 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนถึง 13,658 ครั้ง จากปี พ.ศ.2561 ซึ่งทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความรู้ว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้าต้องการให้คนรอบข้างยอมรับและตั้งใจรับฟังสิ่งที่เขาบอกเล่า ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อน และ คนรัก  ซึ่งการรับฟังปัญหาอย่างตั้งใจจะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายได้ถึง 50 %

นี่จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการ เธอยังโอเคอยู่ไหม โครงการเพื่อให้ความรู้กับบุคคลใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งจัดให้มีทั้งการสัมนา การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และวีอีโอสร้างความตระหนักต่อปัญหา โดยทีมงาน toolmorrow ได้ร่วมทดสอบไอเดียและระดมสมองกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นตัวแทนของ พ่อแม่ เพื่อน และ คนรัก ที่มีความใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เพื่อพัฒนาเนื้อหาให้มีศักยภาพในการสื่อสารและตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย


โดยในงานเสวนา จะประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการรับฟัง นักจิตวิทยา จนถึงครูสายแนะแนว ที่มาช่วยสร้างองค์ความรู้ ซึ่งมีหัวข้อสำคัญได้แก่

  • แนะนำเทคนิคการรับฟังเพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
  • แนะนำเทคนิคการพูดเบื้องต้น
  • เล่าประสบการณ์การทำงานกับคนเป็นโรคซึมเศร้าผ่านการยกตัวอย่างเคสจริง
  • เล่าประสบการณ์การเป็นผู้ฟังเพื่อส่งต่อความรู้สึกให้คนดูได้รู้ถึง ปัญหา อุปสรรคของการนำไปใช้จริง

ซึ่งการจัดกิจกรรมและเผยแพร่สื่อในโครงการนี้ในช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา ถือว่าได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้สนใจเป็นอย่างดี มีผู้ร่วมเสวนาและร่วมติดตามเป็นจำนวนมาก โดยหลังจากการเสวนาทีมงานทูลมอโรได้จัดทำคลิปสรุปงาน มียอดผู้ชมรวมกันนับหลายแสนวิว มีการนำความรู้และพลังที่ได้จากงานไปต่อยอดช่วยเหลือครอบครัวที่มีผู้ป่วยซึมเศร้าได้เป็นจำนวนมาก ได้รับผลที่ดีจากหลายครอบครัว นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ทีมงานรู้สึกเป็นเกียรติและมีความประทับใจอย่างยิ่ง

สำหรับท่านที่สนใจโครงการ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ inbox Facebook : Toolmorrow

อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี

อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี

เพราะบริบทของสังคมไทยในทุกวันนี้ ยังมีความเชื่อและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ HIV ว่าโรคนี้สามารถติดได้ง่ายๆ  ทางน้ำลาย ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน สัมผัส ยุงกัด และความเชื่อที่หนักสุดคือ ติดได้ทางอากาศ ฯลฯ 

ความเข้าใจผิดเหล่านี้ ทำให้เกิดการตีตราผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ และ ยังมีการเลือกปฏิบัติของคนในสังคม ต่อ ผู้ป่วย HIV กว่า 58.6 % (ข้อมูล hivhub) สาเหตุเหล่านี้ทำให้เกิดการตีตราในสังคม ทำให้เกิดการถูกแบ่งแยก ไม่รับเข้าทำงาน ไปจนถึงการเข้าสังคมหรือมีคู่

นี่จึงเป็นที่มาที่ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย  ผ่าน มูลนิธิเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และ ทูลมอโร ได้ร่วมกันจัดทำสื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องเอชไอวี/เอดส์ว่าผู้ติดเชื้อฯ ไม่ต่างจากคนทั่วไป สามารถเรียนได้ ทำงานได้ เช่นเดียวกันกับคนที่ไม่ติดเชื้อ ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อฯ สร้างความเข้าใจเรื่อง HIV / เอดส์ ให้คนในสังคม  รู้ว่า  “ไม่ใช่โรคที่ติดง่ายๆ ” และ “ ไม่ได้น่ารังเกลียด ”  พร้อมเพิ่มความรู้ในการป้องกัน HIV 

ด้วยการสร้างการรับรู้ว่าผู้ที่ติดเชื้อ HIV ก็มีครอบครัวได้”  ผ่าน VDO Interview  เพื่อสื่อว่า HIV ไม่ใช่โรคที่ติดง่ายๆ และพวกเขาก็มีความรัก มีครอบครัว และมีลูก ได้เหมือนกับคนทั่วไป พร้อมการเผยแพร่บทความเชิงสัมภาษณ์ “สร้างการรับรู้ว่าผู้ติดเชื้อ HIV ก็สามารถมีครอบครัว และมีลูกได้ โดยไม่ส่งผลกระทบอะไรกับคนในครอบครัว  เพื่อนบ้านที่มองเห็น การใช้ชีวิตของครอบครัวของผู้ที่ติดเชื้อ HIV และเขาอยู่ใช้ชีวิตร่วมกับคนในชุมชนได้


และสุดท้ายของโครงการ จัดกิจกรรม“สร้างการรับรู้ และ หยุดตีตรา” ในวันเอดส์โลก 

ผ่านการจัดงาน online event  เพื่อให้คนทั่วไปหรือสังคมได้เรียนรู้ และเข้าใจผู้ที่ติดเชื้อ HIV มากขึ้น โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมนับพันคน ในปีที่ผ่านมา

สำหรับท่านที่สนใจโครงการ อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ inbox Facebook : Toolmorrow

การทดสอบสังคม

ทดสอบสังคม

Toolmorrow  เป็นองกรค์ที่สนใจในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงมุมมอง ทัศนคติ และความเชื่อผิดๆของคนในสังคม ให้เข้าใจและเห็นความจริงในเรื่องต่างๆ โดยวิธีหนึ่งที่ทีมงานได้นำมาใช้ คือรูปแบบ Social Experiment คือการทดลองใช้สถานการณ์จริง ในพื้นที่จริง  เพื่อดูปฏิกิริยาการแสดงออกหรือการตอบรับของประชาชนทั่วไป

พร้อมกันนั้น ทีมงานยังได้ซ่อนกล้องแอบถ่ายเพื่อจับอากัปกิริยาจริงๆ ของบุลคลหรือกลุ่มคนที่ถูกทดสอบ เพื่อให้เห็นถึงทัศนคติ มุมมอง ความเชื่อต่างๆ ของคนๆ นั้นหรือกลุ่มคนเหล่านั้น ซึ่งจะต่างจากคลิปวีดีโอทั่วไปที่มีการเล่นละครหรือการแสดงประกอบเป็นต้น

โดยการทดสอบสังคม ที่ทาง Toolmorrow ได้จัดทำร่วมกับภาคีเครือข่าย ในหลายๆ โครงการนั้น ก็นับได้ว่าได้ผลการทดสอบที่น่าสนใจ ทั้งผลตอบรับจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากผู้ถูกทดสอบ จนถึงเมื่อได้นำมาถ่ายทอดเป็นวีดีโอคลิป ก็ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นจำนวนมาก มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง และแสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย และเกิดเป็นกระแสไวรัลในโซเชียลมีเดีย

ตัวอย่างคลิปวีดีโอแบบ Social Experiment ที่เกี่ยวกับวงการศึกษา

คลิปวีดีโอ “เพิ่มคุณภาพครูไทย” 

เรื่องของครูคนหนึ่งที่ทำการทดสอบเด็กนักเรียนโดยการสอน 2 แบบเพื่อดูว่าเด็กๆ จะชอบการสอนแบบไหนและการสอนแบบไหนมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน
VDO : https://www.facebook.com/toolmorrow/videos/1808579642790886/

คลิปวีดีโอ “ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี”

เรื่องของครูคนหนึ่งที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีทีมงานได้ทำการทดสอบครูว่าถ้าให้เด็กที่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกเข้าไปขอโทษขอโอกาสครูอีกครั้งคุณครูคนนี้จะมีปฏิกิริยาอย่างไรและจะทำอย่างไรกับเด็กคนนี้
VDO : https://www.facebook.com/toolmorrow/videos/1862453220736861/

คลิปวีดีโอ “ครูคุณธรรม”

เป็นการทดสอบครูคนหนึ่งที่รักในการสอนนักเรียนโดยทดสอบว่าครูจะเลือกอะไรระหว่างนักเรียนที่มาขอให้ช่วยติวหนังสือหลังเลิกเรียนกับคุณครูอีกคนที่มาชวนไปติวเด็กข้างนอกแทนแถมได้ค่าตอบแทนด้วย

VDO : https://www.facebook.com/toolmorrow/videos/1751259988522852/

สำหรับท่านที่สนใจโครงการ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ inbox Facebook : Toolmorrow

เก๋าชนะ

เก๋าชนะ

เพราะคนแก่  ไม่ควรต้องตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ และสามารถพัฒนาความเก๋า  เพื่อช่วยเหลือสังคมได้ 

ปัจจุบันการพัฒนาของโลกดิจิทัลได้เปลี่ยนวิถีชีวิตคนยุคใหม่ทั่วโลก ซื้อของด้วยการใช้ปลายนิ้วสัมผัส ทำงานจากบ้าน และเข้าแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่สร้างความสนุกสนานและสะดวกสบายในโลกออนไลน์ แต่ในภาพโลกดิจิทัลที่สะดวกรวดเร็วและทันสมัยนี้ มีมุมมืดที่อาชญากรไซเบอร์กำลังพัฒนาศักยภาพตนเองในโลกออนไลน์เช่นกัน ด้วยกลโกงรูปแบบใหม่ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชากรโลกดิจิทัลอย่างมหาศาล 

โดยเฉพาะ คนแก่ หรือ ผู้สูงอายุ ที่อยู่บ้านเพียงลำพังและเล่นโซเชียล มักตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ จากข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 พบว่ามีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 4.2 ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดีย 

ผู้สูงอายุที่หันมาเล่นอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ก็เป็นคนกลุ่มใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากโซเชียลมีเดียเหมือนกัน อย่างการถูกหลอกลวงข้อมูลเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์​ ทำให้ส่งต่อเรื่องราวที่ได้มาแบบผิดๆ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหลายๆ เรื่องได้

ทูลมอโร ได้ร่วมมือกับกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้พัฒนาโครงการ เก๋าชนะ โครงการที่จะสร้างความเท่าทันภัยมิจฉาชีพออนไลน์ ให้กับกลุ่มเป้าหมายคือผู้สูงอายุ ให้มีความรู้ความเข้าใจ ทั้งในการใช้สื่อและเท่าทันอุบายกลโกงที่มากับสื่อออนไลน์

ความท้าทายของโครงการนี้ อยู่ที่การสร้างความตระหนักในการแก้ปัญหา การสร้างกลุ่มเพื่อจัดอบรมผ่านทางโปรแกรมซูม ซึ่งผู้สูงวัยไม่ถนัดในการใช้งาน รวมถึงการให้ความรู้เท่าทันในการใช้เทคโนโลยี ทูลมอโรจึงได้สร้างสื่อ เป็นรายการเกมโชว์เก๋าชนะ เกมตอบคำถามโชว์ความเก๋าในโลกออนไลน์ของคนสูงวัย ที่มีทั้งความสนุกสานและได้ประโยชน์จากเนื้อหา เพื่อกระตุ้นความสนใจแก่กลุ่มเป้าหมายและคนทั่วไป

พร้อมพัฒนาแพลตฟอร์มผ่านทาง LINE OA เพื่อสร้าง Commmunity และอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มเป้าหมายที่ถนัดและคุ้นชินกับการใช้ LINE ในการสื่อสารและเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ซึ่งระบบของเกาชนะนับเป็นนวัตกรรมแรกในประเทศไทยที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อใช้ในการเรียนรู้ภัยกลโกงในรูปแบบต่างๆ สําหรับผู้สูงอายุ โดยเชื่อมต่อเครือข่ายผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในพื้นที่ตางๆใหมาทํางานรวมกัน

ซึ่งผลผลิตจากโครงการนี้นอกจากจำนวนผู้เข้ารับการอบรมนับหลายร้อยท่าน ในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศแล้ว ยังได้เกิด ผู้นำกลุ่มเก๋าชนะ จากผู้เข้าร่วมที่ขาดความเท่าทันภัยกลโกง ที่พัฒนาตนเองผ่านกระบวนการอบรมจนกลายมาเป็นวิทยากรผู้นำกลุ่มวัยเก๋าต่างๆ นับร้อยชีวิต ทำให้เกิดความเข้มแข็งนำสู่ชุมชนต่างๆ เป็นจำนวนมาก สร้างความเท่าทันภัยสื่อออนไลน์ให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในสังคม นับว่าเป็นโครงการต้นแบบสำคัญ ที่สามารถสร้างให้เกิดตัวอย่างการสร้างการเรียนรู้แก่คนสูงวัยได้อย่างมีประสิทธิผล

สำหรับท่านที่สนใจโครงการเก๋าชนะ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ inbox Facebook : Toolmorrow

คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน

คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน

เปลี่ยนความไม่เข้าใจ ให้กลายเป็นสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นอบอุ่นในครอบครัว
เพราะประเทศไทยมีเยาวชนกว่า 13 ล้านคนที่กำลังเสพติดมือถือ

พ่อแม่ผู้ปกครองในยุคปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาในการเลี้ยงลูกที่เติบโตในยุคที่เทคโนโลยีและสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมีปัญหาสำคัญหลายประการที่กำลังแพร่หลายและเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตและการพัฒนาของเด็กที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 มีกลุ่มเด็กและเยาวชนกว่า 13 ล้านคน ที่ก้าวเข้าสู่สังคมก้มหน้า ติดเกม เสพความบันเทิง หรืออื่นๆ นำไปสู่ปัญหาสมาชิกในครอบครัวสนใจสิ่งที่อยู่ในโลกออนไลน์ แม้จะอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน จนทำให้เกิดภาวะพลัดพรากซึ่งๆหน้า  พบว่าวัยรุ่นใช้สมาร์ตโฟนตั้งแต่ตื่นนอนถึงเข้านอนเฉลี่ย 10-15 ชั่วโมง ส่วนในเรื่องการติดเกม สำรวจในปี 2557 พบว่าเด็กทั้งประเทศติดเกม ประมาณร้อยละ 10-15 ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการพัฒนาการของเด็ก คุณภาพชีวิต และอนาคตในการใช้ชีวิตในสังคมเป็นอย่างมาก มีความต้องการเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงการควบคุมตนเองไม่ได้หากไม่ได้เล่น ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

ทูลมอโร เราคือบริษัทที่ทำงานด้านสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม  ได้เล็งเห็นถึงช่องทางในแก้ปัญหาของผู้ปกครองจำนวนมากในเรื่องของบุตรหลานในทุกช่วงวัย ต้องการแก้ไขปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว ปัญหาการสื่อสารของผู้ปกครองในครอบครัว โดยเฉพาะประเด็นลูกติดมือถือ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ผู้ปกครองจำนวนมากต้องการจะสื่อสารกับบุตรหลานของตน จึงได้สร้างสรรค์และพัฒนาโครงการ คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนากิจกรรมตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน ได้แก่ 

1.มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ออกแบบพัฒนากระบวนการเรียนรู้ทุกช่วงวัย โดยมีที่ปรึกษาแต่ละหลักสูตร และพัฒนาคู่มืออบรม และอบรมพัฒนาผู้นำกลุ่มและผู้ปกครองอาสาในระบบออนไลน์ เพื่อดำเนินกระบวนกลุ่มในการเรียนรู้ร่วมกับผู้ปกครอง 

  1. รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี อาจารย์สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
    ที่ปรึกษาหลักสูตร สำหรับผู้ปกครองที่ดูแลเด็กปฐมวัย (เด็กแรกเกิด – 6 ปี)

3.รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ออกแบบหลักสูตรสําหรับผู้ปกครองที่ดูแลเด็กวัยเรียน (7 – 12 ปี)

  1. พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อํานวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ที่ปรึกษาหลักสูตรสําหรับผู้ปกครองที่ดูแลเด็กวัยรุ่น (13 – 18 ปี)
  2. ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ และทีมจากคณะเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาแบบสอบถามและแบบประเมินที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของโครง รวมทั้งการประเมินผล และวิเคราะห์ผล SROI ของโครงการ
  3. ผศ.ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ และ อาจารย์นุชนาถ สัตย์วินิจ จากวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในการออกแบบและพัฒนาระบบการเรียนรู้บน Platform Online สำหรับผู้เรียน และทีมงานเพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้นำกลุ่ม และผู้ปกครองอาสา

โครงการ คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน ได้ผลิตคลิปวิดีโอเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เชิญชวนกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองให้เกิดความตระหนักและสมัครเข้าร่วมโครงการ มีผู้ปกครองสมัครเรียนจำนวนกว่า 5,000 คน  

 มีการจัดกิจกรรม self-help group โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Experiential Learning เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง ที่เน้นการลงมือทำและมาแลกเปลี่ยนร่วมกัน ทำให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม และนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ โดยใช้แอปไลน์เป็นหลักในการทำกิจกรรม ทำให้ผู้ปกครองสามารถเข้าร่วมได้อย่างสะดวก และไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางหรือลางาน สามารถเรียนที่ไหนก็ได้ ตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้คนในยุค New Normal   

ซึ่งหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดแล้ว พบว่าความสัมพันธ์ของผู้ปกครองกับเด็กค่อนข้างดีขึ้น มีผลสำรวจความใกล้ชิดผูกพันระหว่างผู้ปกครองกับเด็กเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมาคือเรื่องระเบียบวินัย การวางกฎกติกาและข้อตกลงร่วมกันภายในครอบครัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการสื่อสารภายในครอบครัวดีขึ้น สามารถช่วยพัฒนาความใกล้ชิดผูกพันระหว่างผู้ปกครองกับเด็กได้ ผู้ปกครองสามารถสื่อสารหรือปรับพฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อเด็กได้ดีขึ้น และสามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ดีขึ้นด้วย ผลที่ตามมาคือปัญหาการติดมือถือ (Nomophobia) หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมลดลง โดยผู้ปกครองสามารถลดการใช้โทรศัพท์จากระดับปานกลางเป็นระดับใช้โทรศัพท์ตามความจำเป็น

โดยโครงการ คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน ได้ดำเนินงานต่อเนื่องมา 2 ปี ติดต่อกัน สามารถช่วยแก้ไขปัญหาของครอบครัวต่างๆ ได้นับ 1,000 ครอบครัว สร้างให้เกิด ผู้ปกครองอาสานับ 100 ราย ที่จะมาช่วยอบรมและเพิ่มพูนประสบการณ์แก่พ่อแม่ที่เข้ามาขอรับการแก้ปัญหา นับว่าเป็นโครงการต้นแบบที่สามารถสร้างให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างน่าชื่นชม

สำหรับท่านที่สนใจคอร์ส คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ inbox Facebook : Toolmorrow

Scroll to top